ในตลาดซื้อขายนักเตะอาจดูเหมือนเรื่องไกลตัวที่เกิดขึ้นหลังฉากในวงการฟุตบอล แต่ความจริงแล้ว มันคือพื้นที่แห่งการแข่งขัน ความเฉียบคม และการวางกลยุทธ์ในระดับสูงที่แต่ละสโมสรต้องงัดทุกเเผนการออกมาใช้
ยุคที่ข้อมูลคือทุกสิ่ง TransferRoom จึงกลายเป็นเวทีที่เหล่าผู้บริหารระดับสูงของสโมสรทั่วโลกมาเจอกันในห้องเดียว เพื่อทำสิ่งเดียวกันคือ ดีลเพื่อซื้อขายผู้เล่น ก่อนตลาดนักเตะจะเปิดขึ้น
เรื่องราววันนี้ขอพาทุกคนเข้าสู่เบื้องหลังของหนึ่งในพื้นที่ ที่มีความสำคัญที่สุดอีกที่หนึ่งของโลกฟุตบอล ณ ห้องประชุมในกรุงเบอร์ลินที่อาจไม่มีเสียงเชียร์ แต่มันคือสนามที่เดิมพันอนาคตของนักเตะ สโมสร และลีกทั่วทั้งโลกอย่าง กระชับ-ตรงประเด็น-สุดพิเศษให้กับทุกคนได้ติดตามกันได้เเล้วที่ Main Stand
ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ภายในโรงแรม Estrel ที่ดูเงียบสงบจากภายนอก แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น ในห้องประชุมใหญ่ที่มีโต๊ะเรียงรายกว่า 160 โต๊ะ ตัวแทนจากสโมสรกว่า 300 ทีม และเอเจนซี่อีกกว่า 80 รายจาก 47 ประเทศทั่วโลก มารวมตัวกันเพื่อภารกิจเดียวคือ “เปิดโต๊ะเจรจาดีลนักเตะก่อนตลาดซื้อขายฤดูร้อนจะเปิดขึ้น”
TransferRoom คือพื้นที่ศูนย์กลางของวงการฟุตบอลยุคใหม่ เเละทุกการพบปะจะใช้เวลาเพียงแค่ 15 นาที ย้ำอีกครั้งว่าเเค่ 15 นาที เสมือนกับ “สปีดเดทติ้ง” แบบลูกหนัง ที่ผู้จัดการทีม ผู้อำนวยการกีฬา แมวมอง และเอเยนต์ต่างรีบใช้เวลานี้ให้คุ้มค่าเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตนเองเเก่สโมสร ของพวกเขา
นอกจากนั้น TransferRoom จะมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ แพลตฟอร์มออนไลน์ (Online Platform) ที่เป็นการเปิดใช้งานได้ 24 ชั่วโมงตลอดปี เหมือนโซเชียลมีเดียของตลาดนักเตะ ที่ใช้สำหรับค้นหาจับคู่ดีล ส่งข้อเสนอระหว่างสโมสรและเอเจนซี่ ทำให้ให้สโมสรและเอเจนซี่สามารถเข้าถึงข้อมูลตลาดนักเตะได้แบบเรียลไทม์
ส่วนอีกรูปเเบบหนึ่งคือเป็น อีเวนต์เจรจาแบบพบหน้า (In-person Summit) เป็นการจัดงานที่รวมผู้มีอำนาจตัดสินใจจากสโมสรและเอเจนซี่ต่าง ๆ มาพบปะและเจรจาเกี่ยวกับการซื้อขายนักเตะเหมือนกับที่มีจัดขึ้นที่ เบอร์ลิน นั่นเอง
ทางด้านของการจัดงานทั่วไปเเบบ อีเวนต์เจรจาแบบพบหน้า จะมีจัดกันประมาณ 3-4 ครั้งต่อปี และมักจะถูกวางวันเเละเวลาในการจัดงานให้สอดรับกับจังหวะช่วงเวลาของตลาดการ ซื้อ-ขายนักเตะ สำหรับช่วงเดือนที่มักจัดงานจะเป็นช่วง เดือนมีนาคมสำหรับเบอร์ลิน เเละเดือนอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของเเต่ละเมืองเเละประเทศนั้นๆ
บรรยากาศภายในงานจะมีสโมสรจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษเข้าร่วมมากมายอาทิเช่น แมนฯ ยูไนเต็ด , แมนฯ ซิตี้ , ลิเวอร์พูล , เชลซี , อาร์เซนอล และ สเปอร์ส เป็นต้น ทั้งยังมีสโมสรจากทั่วโลกมาร่วมเปิดโต๊ะเจรจากันอย่างคับคั่ง
ระบบการนัดหมายในงานนี้จะถูกจัดผ่านแอปฯ ของ TransferRoom โดยเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงเวลาได้แล้ว ระบบจะกำหนดหมายเลขโต๊ะให้โดยอัตโนมัติ
นอกจากนั้นในห้องประชุมจะมีเสียงกริ่งดังขึ้น 3 ครั้งทุก ๆ 15 นาที เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าให้ผู้เจรจาจากสโมสรต่างๆให้ลุกขึ้นจากโต๊ะ และย้ายไปยังโต๊ะถัดไปสำหรับการเจรจารอบใหม่ บรรยากาศจึงคล้ายกับการแข่งขันหมากรุกที่มีเวลาจำกัดในแต่ละตา ส่งผลให้ทุกวินาทีจึงมีค่าต่ออนาคตของนักเตะและตัวสโมสรเป็นอย่างมาก
ทว่าแม้จะไม่ใช่ทุกโต๊ะที่จบลงด้วยข้อตกลง แต่ TransferRoom กลับเป็นจุดเริ่มต้นของดีลใหญ่หลายดีล เช่น วิคเตอร์ ยอเคเรส ที่ย้ายจากโคเวนทรีไปสปอร์ติ้ง หรือ อองตวน เซเมนโย ที่ย้ายจากบริสตอลไปบอร์นมัธ ชื่อนักเตะที่กล่าวมาต่างมีจุดเริ่มต้นจากที่นี่ทั้งสิ้นแมวมองจากทีมใหญ่เเห่งหนึ่งเผยว่า พวกเขาใช้ TransferRoom เพื่อหาสโมสรที่เหมาะสมสำหรับส่งนักเตะดาวรุ่งของทีมไปเล่นแบบยืมตัวหรือหาช่องทางปล่อยนักเตะออกจากทีม
พูดง่าย ๆ คือ สโมสรใหญ่ที่มีนักเตะดาวรุ่งเยอะ ๆ จะไม่สามารถให้ทุกคนได้ลงสนามกับทีมชุดใหญ่ทันที จึงต้องหา ทีมต่างๆที่มีความพร้อมสำหรับให้โอกาสนักเตะเหล่านั้นได้ลงเล่นจริง ๆ เพื่อพัฒนาฝีเท้า
ดังนั้น TransferRoom จึงกลายเป็นอีกเครื่องมือสำหรับช่วยให้สโมสรแมตช์กับทีมที่กำลังมองหานักเตะในตำแหน่งนั้นอยู่พอดี เกิดเป็นการยืมตัว ไปพัฒนาฝีเท้าในทีมอื่นสัก 6 เดือนหรือ 1 ปี แล้วค่อยกลับมาร่วมทีมเดิม
ตัวอย่างเช่น แมนฯ ซิตี้ มีดาวรุ่งเก่ง ๆ แต่ทีมชุดใหญ่มีผู้เล่นตำเเหน่งเดียวกันที่เยอะมากเเล้ว จึงใช้ TransferRoom หาทีมอย่าง มัดเธอร์เวลล์ ที่มีชื่อเสียงด้านการให้โอกาสผู้เล่นดาวรุ่งใน ลีกของประเทศสกอตแลนด์ ส่งผลให้การดีลปล่อยยืมตัวสามารถให้ผู้เล่นของ แมนฯ ซิตี้ ได้ลงสนามและเก็บประสบการณ์ เพื่อมีโอกาสจะได้กลับมาช่วยทีมได้ เป็นต้น
หรือประเทศใกล้เคียงของเราอย่าง ญี่ปุ่น อย่างสโมสรเอฟซี โตเกียว ที่เดินทางไกลกว่า 5,000 ไมล์ เพื่อมาเจรจาที่นี่ โดยสโมสรมองว่าสิ่งนี้เป็นการลงทุนที่มันคุ้มค่ากว่าการไปพบสโมสรแต่ละทีมแบบตัวต่อตัว เช่นเดียวกับแมวมองจาก สต็อคพอร์ต เคาน์ตี้ ทีมจากลีกทูของอังกฤษ ที่กล่าวว่า
“แค่วันเดียว ผมได้ข้อมูลจากกว่า 12 สโมสร และสามารถอัปเดตนักเตะในลิสต์ได้ถึง 70-80 คน”
ในห้องประชุม การเจรจาจะกินเวลาถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างคอนเนกชันกับยอดทีมจากสโมสรต่างๆ เลยก็ว่าได้ สำหรับบางดีลก็เริ่มจากการพูดคุยเพียงไม่ถึงนาทีก็มี เเต่แล้วกลับกลายเป็นข้อเสนอที่จับต้องได้จริงตามเเหล่งข่าวต่างๆในเวลาต่อมา
ถึงเเม้ในห้องประชุมหลักจะจำกัดเฉพาะเอเจนซี่ชั้นนำ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยืนรออยู่ที่ล็อบบี้เเถวนั้น ที่หวังเพียงแค่ 10 วินาทีในการกล่าวชื่อผู้เล่น หรือแลกเบอร์กับผู้อำนวยการกีฬา เพราะพวกเขารู้ดีว่า…บางครั้ง แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็อาจกลายเป็นดีลสำคัญแห่งฤดูกาลได้
สุดท้ายนั้น TransferRoom จึงไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับเซ็นสัญญา แต่มันคือเวทีสำหรับ เปลี่ยนชีวิตนักเตะ พลิกอนาคตของสโมสร และสร้างจุดเปลี่ยนในตลาดนักเตะระดับโลกได้ในชั่วพริบตา